การสร้างธุรกิจนอกจากจะวางแผนธุรกิจแล้ว สิ่งแรกๆ ที่ควรทำนั่นก็คือ “การออกแบบโลโก้” ที่สามารถสื่อสารกับผู้บริโภคได้อย่างชัดเจน แต่การออกแบบไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะโลโก้จะมีกระบวนการคิดที่ซับซ้อนมากกว่าการออกแบบภาพทั่วไป ซึ่งต้องมีการสื่อถึงตัวตนของแบรนด์ การเลือกสีที่ถูกต้อง การวางองค์ประกอบที่ทั้งสวยและมองครั้งแรกก็รู้เลยว่าแบรนด์อะไร แต่ในบางครั้งดีไซน์บางอย่างอาจจะไม่ส่งผลดีต่อโลโก้ แล้วคืออะไรบ้างล่ะ มาดูกัน
- ไม่ควรลอก
แน่นอนว่าการออกแบบโลโก้เป็นเรื่องที่ยาก แต่ไม่ควรที่จะไปลอกคนอื่นหากคิดไม่ออก เพราะใครๆ เขาก็มองออกทั้งนั้นว่าลอก อย่างไรก็ตาม ในเมื่อโลกใบนี้ไม่ได้มีอะไรใหม่อย่างแท้จริง บางครั้งการได้รับแรงบันดาลใจจากแบรนด์อื่นแล้วมาปรับให้เข้ากับแบรนด์ของเราเองดูจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะเป้าหมายสูงสุดของโลโก้ คือ การสื่อถึงตัวตนของธุรกิจ หากลอกเลียนแบบทั้งดุ้น แล้วโลโก้ของเราจะสื่อถึงตัวตนได้อย่างไร
- เลือกสีตามใจฉัน
สีสันเป็นสิ่งที่ดีเสมอสำหรับงานศิลป์และการสร้างสรรค์ผลงาน แต่ไม่ใช่ว่าจะลงสีอย่างไรก็ได้เสียจนเกินพอดีและไม่มีทิศทางการสื่อสาร เพราะสีที่เราใช้จะถูกจดจำไปตลอดกาลในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์ ดังนั้น การใช้สีจึงควรมาคู่กับสารที่เราต้องการสื่อเช่นกัน เช่น หากเป็นธุรกิจอาหาร โทนสีเหลือง หรือสีแดงอาจเหมาะสมกว่าสีฟ้าหรือสีน้ำเงินที่เหมาะกับธุรกิจที่เน้นความหรูหราหรือความมีระดับ เป็นต้น
- อิงกับกระแส
ไม่มีใครปฏิเสธว่ากระแสทางธุรกิจสามารถทำเงินได้อย่างมหาศาล หากนักการตลาดและผู้บริหารจับกระแสได้ดีและทำแผนการตลาดเรียกลูกค้า แต่ไม่สามารถใช้กับการออกแบบโลโก้ได้ เพราะโลโก้ต้องแสดงถึงคุณค่าของบริษัทที่ลูกค้าจดจำในระยะยาว การนำกระแสระยะสั้นมาใช้กับการสร้างตัวตนของแบรนด์จึงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก ดังนั้น การหาแก่นหรือตัวตนของตัวเองให้เจอก่อนจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
- ใช้ตัวหนังสือมากเกินไป
แม้ว่าเราจะใช้รูปแบบตัวอักษรที่ดีมากแค่ไหนหรือเข้ากับสีที่ใช้มากเพียงใด แต่หากโลโก้ของเรามีแต่ตัวหนังสือ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีเช่นกัน เพราะจะทำให้แบรนด์ของเราดูไม่มีเสน่ห์ดึงดูด โลโก้ที่ดีจึงต้องสะกดคนให้สนใจและจดจำได้ในช่วงไม่กี่วินาที และเข้ากับรูปแบบธุรกิจของเราด้วย เช่น หากขายอาหาร เราควรเน้นรูปภาพและสี โดยมีชื่อสั้นๆ หรือชื่อย่อประกอบให้ลูกค้าจำง่ายๆ
- ไม่ศึกษาคู่แข่ง
การออกแบบโลโก้ที่ดีนั้นควรทำควบคู่ไปกับการศึกษาคู่แข่งทางธุรกิจของเราไปด้วย เพราะนอกจากต้องแข่งขันกันเรื่องคุณภาพของสินค้าและบริการแล้ว รูปแบบการวางตัวอักษรและการใช้สีก็สำคัญเช่นกัน เช่น หากคู่แข่งของเราใช้สีโทนเดียวกันแบบขาวดำ เราก็อาจใช้โทนสีที่โดดเด่นขึ้นมาอีกระดับหรือออกแบบตัวอักษรลักษณะเฉพาะ เพื่อให้สะดุดตามากยิ่งขึ้น ไม่เช่นนั้น โลโก้ของเราก็แทบไม่ต่างจากคู่แข่ง และส่งผลกระทบต่อธุรกิจของเราอีกด้วย
- นามธรรมเกินไป
ไม่ว่าจะเป็นรูปแอปเปิ้ลที่แฝงนัยหลายความหมายทางประวัติศาสตร์หรือสัญลักษณ์องค์กรที่ไม่มีตัวอักษรใดๆ กำกับ อาจไม่เหมาะสมกับธุรกิจที่เรากำลังสร้างขึ้นเลย เพราะการออกแบบโลโก้ประเภทนี้ต้องสะสมความน่าเชื่อถือและประวัติจนกลายเป็นเรื่องเล่า ยกเว้นเสียแต่ว่าเรามั่นใจว่าโลโก้ของเราไปกันได้ดีกับเรื่องเล่าที่เราสร้างขึ้นควบคู่ไปกับสินค้าที่เราขาย แต่หากเราไม่มั่นใจ ก็ออกแบบให้ดึงดูดมากที่สุดก็พอ
- เปลี่ยนไปเรื่อย
แม้ธุรกิจของเราจะไปได้ดีและเป็นที่รู้จักไปทั้งโลก แต่ไม่ใช่ข้ออ้างที่จะทำให้เราเปลี่ยนโลโก้ทุกปีราวกับว่าเปลี่ยนกลยุทธ์ยิ่งกว่าเปลี่ยนเสื้อผ้า จะทำให้คู่ค้าสับสน และอาจทำให้แบรนด์ของเราถูกมองว่าไม่คงที่หรืออาจถึงขั้นไม่มั่นคงเพราะผู้บริหารก็เป็นได้ อย่างน้อยที่สุด ถ้าเราต้องการเปลี่ยน ก็ต้องมีหลักการและเหตุผลในการเปลี่ยน เช่น เปิดตัวสินค้ารุ่นใหม่ล่าสุดหรือคงโครงร่างของโลโก้เอาไว้
- แออัดยัดเยียด
จำเอาไว้ว่า โลโก้ที่ดีต้องมีช่องหรือพื้นที่ว่างเอาไว้บ้าง เพราะจะทำให้ดูสบายตา ไม่อึดอัดหรือรกหูรกตามากจนเกินไป คงไม่ใช่เรื่องดีเท่าไรที่เราจะใส่สี เขียนตัวอักษร วาดรูปทรงลงไปในโลโก้จนไม่มีมุมให้พักสายตาบ้างเลย หรือถ้าจำเป็นต้องออกแบบลักษณะดังกล่าว องค์ประกอบต่างๆ ก็ต้องดูมีความหมายบ้าง เช่น FedEx ซึ่งอาศัยการที่ตัวอักษรติดกันแทรกลูกศรชี้ไปข้างหน้าซึ่งแสดงถึงการก้าวไปข้างหน้าของธุรกิจนั่นเอง
การออกแบบโลโก้ที่ดีไม่มีแนวทางที่ตายตัว เพราะต้องคำนึงถึงหลายองค์ประกอบ ทั้งตัวอักษร สี รูปทรงและความหมายที่เราอยากใส่ลงไปในโลโก้พร้อมกับสินค้าและบริการที่เราขายอีก ดังนั้น การหลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่จำเป็นในการสร้างสรรค์โลโก้จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพื่อป้องกันไม่ให้ธุรกิจของเราพังตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้น
อ้างอิง: The Dos and Don’ts, 10 Common Mistakes In Logo Design
Pingback: 7 วิธีสร้างแบรนด์ให้น่าจดจำ ด้วยการออกแบบโลโก้ - huakaticreative